ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 1656 พินัยกรรมนั้น จะทำตามแบบดังนี้ก็ได้ กล่าวคือต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น วรรคสอง การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมตามมาตรานี้
|
|||||||||
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5288/2561 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า น. ไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้า ส. และ บ. ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมดังกล่าว เมื่อ ส. และ บ. ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองขณะ น. ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9683 - 9685/2558 พินัยกรรมพิพาทมีลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา หรือพินัยกรรมแบบมีพยาน เป็นหนังสือที่มีการลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม รอยลบ ขีด ฆ่า เติมข้อความที่ช่องวัน เดือน ปี และอายุของผู้ตายมีการลงลายมือชื่อผู้ตายและลงลายมือชื่อของ ว. กับ ศ. ผู้เป็นพยานรับรองลายมือชื่อผู้ตายซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วทั้งสองคนกำกับไว้ ทั้งผู้ตายได้ลงลายมือชื่อกับพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือไว้ที่ช่องผู้ทำพินัยกรรม โดยมีลายมือชื่อของ ศ. และ ว. ที่ช่องพยานครบถ้วน แม้พินัยกรรมที่พิพาทไม่มีข้อความที่เป็นถ้อยคำระบุการเผื่อตายไว้โดยชัดแจ้ง แต่ก็มีข้อความว่า "พินัยกรรม" ที่หัวกระดาษตรงกลาง ซึ่งหมายถึงเอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย และยังมีข้อความระบุไว้ว่า "....ข้าพเจ้าขอให้ ผ. บุตรสาวเป็นผู้จัดการมรดกให้ปฏิบัติตามเจตนาของข้าพเจ้าในการแบ่งปันทรัพย์สิน... ขอทำพินัยกรรมให้แบ่งทรัพย์สินดังนี้..." กรณีจึงมีความหมายอยู่ในตัวว่าข้อกำหนดในเอกสารดังกล่าวจะมีผลต่อเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย พินัยกรรมที่พิพาทจึงเป็นไปตามแบบที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1656 แห่ง ป.พ.พ. และมีผลบังคับตามกฎหมาย หาได้เป็นโมฆะไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17338/2555 การแก้ไขชื่อสกุลของเจ้ามรดกในพินัยกรรม โดยมีการลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมกำกับในบริเวณที่แก้ไข แต่ไม่มีพยานสองคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมขณะที่แก้ไข อันเป็นการไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายระบุไว้ จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคสอง มีผลทำให้พินัยกรรมไม่สมบูรณ์เฉพาะส่วนที่ทำไม่ถูกต้อง และถือว่าไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม พินัยกรรมคงมีข้อความตามเดิม หามีผลทำให้พินัยกรรมที่เดิมสมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็นไม่สมบูรณ์ทั้งฉบับหรือตกเป็นโมฆะไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11034/2553 ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก บัญญัติกำหนดแบบของพินัยกรรมแบบธรรมดาไว้ว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคนและพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะไปในทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง ก็ไม่มีผลทำให้พินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นพินัยกรรมที่มีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้
|